วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ใบความรู้ที่ 2 ลำดับขั้นการทำรายงาน

ลำดับขั้นตอนของการทำรายงาน
ขั้นที่ ๑   การเลือกเรื่อง  
           ถ้าผู้เขียนรายงานเลือกหัวข้อเรื่องเอง ควรเลือกเรื่องที่ตนสนใจที่สุด เรื่องที่มีประโยชน์  และค้นคว้าได  สะดวก (เอกสารค้นคว้าเพียงพอ) และที่สำคัญคือเลือกเรื่องที่เหมาะสมกับเวลาที่กำหนดให้
           การเขียนรายงานเชิงวิชาการทุกครั้ง นักเรียนต้องมี  หัวข้อเรื่องที่จะเขียนก่อน โดยมี หลักในการเลือกหัวข้อเรื่องดังนี้
           .  ควรเป็นเรื่องที่นักเรียนสนใจที่สุด
           .  ควรเป็นหัวข้อเรื่องที่นักเรียนสามารถค้นคว้าหาข้อมูลได้ง่าย  หัวข้อรายงานที่ไม่สามารถหาข้อมูลอ้างอิงได้  จะทำให้รายงานขาดความน่าเชื่อถือ  เช่น  หัวข้อต่อไปนี้
             ผีมีจริงหรือไม่
            ไสยศาสตร์ช่วยรักษาโรคได้จริงหรือ
           มนุษย์ดาวอังคารบุกโลก
            หัวข้อดังกล่าวไม่สามารถพิสูจน์ได้ มักจะเป็นเรื่องประสบการณ์เฉพาะตน  หรือยังไม่เป็นเรื่องที่มีการรายงานที่น่าเชื่อถือต่อสาธารณชน   จึงถือว่าเป็นหัวข้อที่ค้นคว้าหาข้อมูลไม่ได้
            คำว่า   สามารถค้นคว้าหาข้อมูลได้  หมายความว่ามีแหล่งค้นคว้ามากพอ  มีหนังสือให้ค้นคว้าหลายเล่ม   ถ้าเล่มเดียวถือว่าเป็นการ   คัดลอก  หรือ  ตัดตอน  หรือ  สรุปความ  มาจากหนังสือเล่มนั้น  ผิดวัตถุประสงค์ของการเขียนรายงานเชิงวิชาการ
           .  ไม่ควรเป็นหัวข้อเรื่องที่มีขอบเขตกว้างจนเกินไป   เช่น
                       ประวัติศาสตร์ชาติไทย
                       ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน
              นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงระดับการเรียนของผู้เขียนรายงาน  ระยะเวลาที่ให้ศึกษาค้นคว้า จุดมุ่งหมายของการเขียนรายงาน ถ้ามีความรู้น้อย มีเวลาน้อย   ควรเลือกเรื่องที่ไม่กว้างเกินไป และตัวเองมีความสนใจเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว  จะทำให้เขียนรายงานได้สำเร็จด้วยดี
            คำว่า  หัวข้อเรื่องหมายถึงการกำหนดหัวข้อเรื่องเพื่อกำหนดแนวเรื่องที่จะเขียน  เมื่อเขียนเสร็จแล้วอาจตั้งชื่อใหม่ให้น่าสนใจยิ่งขึ้นก็ได้  และจะได้ให้ตรงกับเนื้อเรื่องมากขึ้น
ขั้นที่ ๒  การกำหนดจุดมุ่งหมายและขอบเขตของเรื่อง
หลังจากที่หาหัวข้อเรื่องที่จะเขียนรายงานทางวิชาการได้แล้ว ต้องคิดต่อไปว่าจะเขียนในแง่มุมใด และต้องการเสนออะไรแก่ผู้อ่าน  นี่คือการหาจุดมุ่งหมายและขอบเขตของเรื่อง ซึ่งต้องมีความสัมพันธ์กัน  คือ  ต้องไม่เขียนเกินขอบเขตที่กำหนดไว้ และต้องครอบคลุมจุดมุ่งหมายของผู้เขียน  
            ตัวอย่างหัวข้อที่ จุดมุ่งหมายและขอบเขตของเรื่องสัมพันธ์กัน
 
หัวข้อ   "การวัดปริมาณน้ำฝน"
จุดมุ่งหมาย  เพื่อให้ทราบวิธีการวัดปริมาณน้ำฝนของกรมอุตุนิยมวิทยาและประโยชน์จากการวัดปริมาณน้ำฝน
ขอบเขต       กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของการวัดปริมาณน้ำฝน,  เครื่องมือเครื่องใช้, วิธีการวัด  และประโยชน์จากการวัดปริมาณน้ำฝน
ขั้นที่ ๓  วิธีการค้นคว้า และบันทึกข้อมูล
            สำรวจดูว่าจากหัวข้อเรื่อง จุดมุ่งหมาย และขอบเขตที่กำหนดไว้แล้วนั้น  สามารถหาข้อมูลจากที่ใดบ้าง  ซึ่งอาจหาได้จากหนังสือ วารสาร เอกสารต่าง ๆ  สิ่งพิมพ์  สารานุกรม  ผลงานการวิจัย ปริญญานิพนธ์ต่าง ๆ    หรือจากการสัมภาษณ์ จากการไปสังเกตด้วยตนเอง จากประสบการณ์ตรง  พิพิธภัณฑ์     สวนสัตว์  พิพิธภัณฑ์สัตว์  ฯลฯ  ผู้ศึกษาค้นคว้าจะต้องมีทักษะเรื่องการใช้ห้องสมุด และมีการกำหนดหัวข้อ จุดมุ่งหมาย และขอบเขตของเรื่องไว้ชัดเจน  จึงจะค้นคว้าได้รวดเร็ว   เมื่อรวบรวมชื่อหนังสือได้มากพอแล้ว  ขั้นต่อไปก็คืออ่านและพิจารณาว่า  ข้อมูลส่วนใดที่จะนำมาใช้อ้างอิงได้  ก็ให้บันทึกไว้ในบัตรจดบันทึก  เวลาอ่านไม่จำเป็นต้องอ่านละเอียด  กวาด ๆ สายตาดู  ถ้าเจอหัวข้อที่ต้องการก็จดบันทึกไว้   
ขั้นที่ ๔  การทำโครงเรื่อง
            การทำโครงเรื่อง คือการแยกหัวข้อเรื่องออกเป็นหัวข้อย่อย ๆ  ซึ่งเมื่อเขียนรายละเอียดของแต่ละหัวข้อแล้ว  ก็จะได้รายงานทางวิชาการทั้งเรื่อง การทำโครงเรื่องจะช่วยป้องกันไม่ให้เขียนออกนอกเรื่อง ช่วยให้รู้ว่าจะเขียนเกี่ยวกับอะไร  เขียนไปในทางใด สั้นยาวแค่ไหน ทำให้เราเรียบเรียงเรื่องได้ถูกต้องตามลำดับ  ทำให้แต่ละหัวข้อย่อยต่อเนื่องกัน    วิธีทำ ควรตามขั้นตอนดังนี้  
             ระดมความคิด  โดยเขียนหัวข้อใหญ่  หัวข้อย่อย หรือประเด็นต่าง ๆ ที่เราคิดว่าจะเขียนลงไปในรายงานของเราให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
            คัดเลือกความคิด  จากหัวข้อที่เราระดมมาทั้งหมด  พิจารณาดูว่า หัวข้อใดจับรวมกันเป็นหัวข้อเดียวกันได้  หัวข้อใดที่ไม่เกี่ยวข้องก็ตัดออกไป  หัวใดที่ยังขาดอยู่ก็เพิ่มเข้ามา  แล้วจัดหมวดหมู่
             เรียงลำดับหมวดหมู่ความคิด  ดูว่าหมวดหมู่ใดควรมาก่อนมาหลัง  เรียงตามลำดับความสำคัญ  จากนั้นเพิ่มบทนำและบทสรุปเข้าไป  ก็จะได้โครงเรื่องตามต้องการ
             แก้ไขภาษาตามต้องการ
ขั้นที่    การเสนอผลงาน 
            ผู้เขียนรายงานจะต้องนำข้อมูลต่าง ๆ ที่จดบันทึกไว้ มาเขียนเรียบเรียงเข้าให้เป็นระเบียบตามโครงเรื่องที่วางไว้  ใช้ถ้อยคำสำนวนของผู้เขียนเอง เขียนโดยใช้ภาษาที่เป็นทางการ เขียนให้กระชับ อ่านเข้าใจแจ่มแจ้ง ชัดเจน ไม่วกวนสับสน

ใบความรู้ที่ 1 ความเรียงคืออะไร

ความเรียง
                                การเขียนความเรียง เป็นการเรียบเรียงถ้อยคำให้เป็นข้อความเพื่อแสดงความคิด ความรู้สึกและความเข้าใจของเราให้ผู้อื่นทราบ
การเขียนความเรียง
ลักษณะการเขียนที่ดี
๑.เนื้อหาสาระดี มีประโยชน์แก่ผู้อ่าน ข้อมูลต่างๆ ถูกต้องตามความเป็นจริง การแสดงความคิดเห็นของผู้เขียนจะต้องมีเหตุผลสมควร
๒.การใช้ภาษาดี การใช้ถ้อยคำสำนวนต่างๆ ได้ตรงตามความหมายที่ต้องการอย่างแท้จริงและใช้ภาษาให้เหมาะสมตามกาลละเทศะ การผูกประโยค ให้ได้ใจความชัดเจน การเรียงลำดับและข้อความเป็นไปอย่างไม่สับสน การใช้ถ้อยคำกะทัดรัดและการรู้จักเว้นวรรคตอนได้อีกด้วย
๓.ท่วงทำนองการเขียนดี คือการรู้จักใช้รูปแบบของการเขียนให้เหมาะสมกับเนื้อหา นับว่าเป็นศิลปะของการนำเสนอประการหนึ่ง ซึ่งจะช่วยให้ผู้อ่านได้ทั้งอรรถรสและรับรู้เจตนาของ ผู้เขียนได้ชัดเจนขึ้น ทั้งยังแสดงให้เห็นฝีมือความสามารถของผู้เขียนได้เป็นอย่างดี
รูปแบบของการเขียนความเรียง
๑. การเขียนคำนำ เป็นการเริ่มเรื่องให้ผู้อ่านรู้ว่าเนื้อหาที่จะอ่านต่อไปเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร การเริ่มเรื่องเป็นตอนสำคัญที่จะทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่น่าอ่านหรือไม่ ดังนั้นจึงมี วิธีการที่จะเร้าความสนใจของผู้อ่านได้หลายทาง แต่ทั้งนี้ต้องให้สอดคล้องกับเรื่องและไม่ควรให้ยาวจนเกินไป
๒. เนื้อเรื่อง หมายถึง เนื้อความซึ่งเป็นสาระสำคัญของความเรียง การเขียนเนื้อเรื่องได้ดี ต้องมีการวางโครงเรื่องเสียก่อน เพื่อช่วยให้เนื้อเรื่องเป็นไปตามลำดับ ไม่สับสนและมีความเกี่ยวเนื่องกันไปจนจบ
๓. การสรุปเรื่องหรือการลงท้าย การสรุปเรื่องหรือการลงท้ายช่วยให้ผู้อ่านทราบว่าเรื่องนี้จบแล้ว ไม่ใช่ทิ้งค้างไว้เฉยๆ ทำให้สงสัยไม่แน่ใจว่าเรื่องนี้จบหรือยัง การสรุปไม่ใช้การย่อเรื่องทั้งหมด แต่การสรุปเรื่องหรือการปิดเรื่องที่ดีต้องสร้างความประทับใจแก่ผู้อ่าน อาจปิดเรื่องด้วยข้อคิดที่คามคายหรือคำประพันธ์สั้นๆ ก็ได้
ลักษณะสำคัญของความเรียง ความเรียงที่ดีต้องประกอบด้วยลักษณะสำคัญ ๓ ประการคือ
๑. เอกภาพ ได้แก่ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียว ความเรียงเรื่องหนึ่งๆ จะต้องมีใจความและ ความมุ่งหมายสำคัญเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เรื่องที่นำมาเขียนจะต้องเกี่ยวข้องเป็นเรื่องเดียวกัน หรือช่วยเสริมให้เรื่องเด่นชัดขึ้น เรียงความที่ขาดเอกภาพ คือ ความเรียงที่มีเรื่องต่างๆ ปนกัน บางเรื่องไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องเดิมก็มี
๒. สัมพันธ์ภาพ คือ การเชื่อมโยงข้อความต่างๆ ให้เป็นไปตามลำดับ มีเหตุผลรับกัน    ความเรียง ที่มีสัมพันธภาพ จะต้องมีเนื้อความเกี่ยวเนื่องกันไปเหมือนลูกโซ่ เนื้อความต้องชัดเจนไม่คลุมเครือ
๓. สารัตถภาพ คือ การเน้นใจความที่สำคัญให้เด่นชัดขึ้นมา ส่วนที่เป็นพลความจะต้องเป็นพลความที่ช่วยสนับสนุนใจความสำคัญนั้น ถ้าความเรียงมีพลความมากเกินไป เรียกว่าขาด สารัตถภาพ
ลักษณะความเรียงที่ดี
๑. รูปแบบหรือสัดส่วนของความเรียงจัดได้เหมาะสม วางคำนำ เนื้อเรื่อง สรุป ได้ถูกต้องน่าอ่าน
๒.เนื้อเรื่องมีแนวคิดตรงประเด็น ให้ความคิดแปลกใหม่ อ้างเหตุผลถูกต้อง ขยายความได้แจ่มแจ้งชัดเจน
๓. ความสะอาดความเป็นระเบียบ ลายมือต้องอ่านง่าย เว้นวรรคถูกต้อง
๔. การใช้ภาษาควรคำนึงถึงข้อต่อไปนี้ ใช้คำกะทัดรัด เข้าใจง่าย มีความหมายชัดเจน         ใช้คำถูกต้องตรงความหมายและเหมาะสมกับเรื่อง ไม่ใช้ภาษาพูด ภาษาถิ่น หรือคำแสลง ไม่ใช้คำฟุ่มเฟือย ไม่ใช้ศัพท์บัญญัติหรือศัพท์ทางวิชาการที่ไม่รู้จักกันดี ไม่ใช้สำนวนภาษาต่างประเทศ  ไม่ใช้คำย่อ  ไม่ใช้คำแบบภาษาโฆษณาหรือภาษาหนังสือพิมพ์